วันอังคารที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

การดูแลสมองไม่ให้เสื่อม



การดูแลสมองไม่ให้เสื่อม

    สมองเป็นอวัยวะที่อ่อนแอที่สุดของร่างกายมนุษย์ ทั้งลักษณะทางภายนอกที่อ่อนนิ่ม จึงต้องเก็บไว้ในเกราะป้องกันซึ่งนั่นคือ กระโหลกศีรษะนั่นเอง สมองทนต่อการขาดออกซิเจนได้ไม่เกิน 3 นาที ซึ่งน้อยที่สุดในอวัยวะทั้งหมดของเรา นั้นคือเหตุผลที่เราคงไม่สามารถเปลี่ยนสมองได้เหมือนอวัยวะอื่นๆ เมื่อสมองไม่ทำงานหรือสมองตายก็จะเป็นหลักเกณฑ์ในการตัดสินว่าสามารถเอาอวัยวะผู้นั้นไปเปลี่ยนถ่ายให้ผู้อื่นได้ เพราะอวัยวะอื่นยังไม่ตายตาม สมองจึงเป็นอวัยวะที่เปราะบาง ฉะนั้นการดูแลสมองจึงมีความละเอียดอ่อนยิ่งกว่าอวัยวะอื่นๆ มาก การดูแลร่างกายให้มีสุขภาพที่ดีเป็นพื้นฐานสำคัญอย่างยิ่งในการดูแลสมอง การใช้หลัก 5 อ. คือ อาหารดี อากาศดี อารมณ์ดี ออกกำลังกาย และอุจจาระดี ก็เป็นหลักการที่ต้องปฏิบัติอยู่แล้ว แต่ในการดูแลสมองให้มีประสิทธิภาพต้องทำมากกว่านั้น ลองมาดูกันว่าต้องดูแลอย่างไรบ้าง







    1. หมั่นใช้สมองในการทำงานต่างๆ ที่เคยทำได้ ต้องทำต่อไป ไม่ว่าจะเป็นงานบ้าน งานประจำ งานอาชีพ งานศิลปะ การฝีมือ พยายามทำต่อไปอย่าไปทอดทิ้ง อย่าไปคิดว่าแก่แล้วปลดระวางตัวเอง คิดแบบนี้สมองจะเสื่อมเร็ว หมั่นคิดเลขในใจ อ่านหนังสือ จดบันทึกเหตุการณ์สำคัญ กระตุ้นเตือนความจำของตนเองในเหตุการณ์ใหม่ๆ ที่เพิ่งผ่านไปอยู่เสมอ พยายามติดตามข่าวสาร รวมทั้งฝึกสมองให้ทำในสิ่งใหม่ๆ บ้าง เช่น ใช้คอมพิวเตอร์ เล่นเกมส์ฝึกสมอง มีคำกล่าวว่า กระบี่ต้องลับจึงจะคมสมองของคนเราก็ต้องฝึกใช้งาน จึงจะไม่เสื่อม ข้าราชการที่ปลดเกษียณหากอยู่บ้านเฉยๆ ไม่ได้ทำอะไรจึงเสี่ยงต่อสมองเสื่อม
    2. อย่าเครียด การสะสมความเครียดนานๆ ทำให้สมองเหี่ยวและเสื่อมได้ ต้องพยายาม ปล่อยวาง ทำใจ ให้อภัย อย่าคิดมาก มองโลกในแง่บวก มองเห็นข้อดีของผู้อื่น ไม่ช่างจับผิด เมื่อเครียดก็มีวิธี ที่จะคลายเครียดได้โดยง่าย เข้าใจความเป็นจริงแห่งชีวิต ซึ่งการทำเช่นนี้จะต้องมีพื้นฐานทางธรรมอยู่บ้าง ผู้ที่มีอารมณ์ดี มีอารมณ์ขัน สมองจึงไม่ค่อยเสื่อม แถมยังดูอ่อนกว่าวัยด้วย
    3. ฝึกสติ สังเกตว่าการมีสติจะทำให้ไม่ขี้ลืม ไม่หลง สามารถทำอะไรได้อย่างรอบคอบ ไม่ค่อยผิดพลาด คนทั่วไปคิดว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องทางศาสนาจึงต้องไปปฏิบัติธรรม อันที่จริงเป็นเรื่องที่ใครๆ ก็ทำได้ทั้งนั้น ทุกที่ ทุกเวลา ซึ่งเรื่องเหล่านี้ต้องฝึกเดี๋ยวนี้ หากรอให้อายุมากขึ้น จะฝึกไม่ได้ เราจึงพบว่าผู้ที่หมั่นเจริญสติจะไม่ค่อยเป็นสมองเสื่อม
    4. การออกกำลังกาย ช่วยได้มากครับ การออกกำลังกายควรทำอย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ครั้งละครึ่งชั่วโมง การเดินเป็นการออกกำลังกายที่ดีที่สุด มีงานวิจัยกลุ่มคนสูงอายุจากสหรัฐอเมริกา จำนวน 2,257 ราย ช่วงอายุ 71-93 ปี โดยแบ่งกลุ่มทดลองออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ใช้การเดินแบบไม่หักโหม กับอีกกลุ่มที่ไม่ได้ออกกำลังกายเลย โดยใช้ระยะเวลาในการศึกษาระหว่างปี 2534-2536 และติดตามผลการตรวจร่างกายทางระบบประสาท ซึ่งผลสรุปพบว่า คนที่ออกกำลังกายโดยการเดินน้อยกว่าวันละ 400 เมตร จะมีโอกาสเกิดภาวะสมองเสื่อมมากกว่าคนที่เดินมากกว่าวันละ 400 เมตร เกือบ 2 เท่า ดังนั้นผู้วิจัยจึงได้ให้ความเห็นว่า การเดินช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะสมองเสื่อมในคนสูงอายุได้ผลอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนั้น การออกกำลังกายยังช่วยป้องกันโรคอื่นๆ เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในหลอดสูงอีกด้วยครับ
    5. ใช้ตัวช่วยอื่นๆ เช่น ฟังดนตรีที่ชื่นชอบ (music therapy) เพื่อคลายเครียดช่วยให้อารมณ์ดี และเตือนให้นึกถึงบรรยากาศเก่าๆ เล่นกับสัตว์เลี้ยงน่ารัก เช่น ลูกหมา (pet therapy) เพื่อช่วยกระตุ้นให้เราคอยตื่นตัวไปกับพฤติกรรมความซนที่แฝงอยู่ในความไร้เดียงสาของบรรดาลูกสัตว์เหล่านั้น
    6. นอนหลับให้เพียงพอ การนอนหลับจะช่วยกระตุ้นความจำได้ (sleep boost your memory) การมีสุขภาพจิตดีจะทำให้หลับได้ดีเช่นกัน ฉะนั้นจะเห็นได้ว่า การดูแลสมองของเราให้อยู่กับเราไปนานๆ มีวิธีดูแลได้ไม่ยาก สมองที่ดีย่อมอยู่ในร่างกายที่มีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดีฉะนั้นควรเริ่มปฏิบัติเดี๋ยวนี้ ไม่ควรรอให้สูงอายุแล้วจึงปฏิบัติ จะไม่ทันการ จะทำได้ยาก และทำไม่ได้ด้วยการที่ไม่เคยฝึกมาก่อน

ผู้แต่ง : นายแพทย์ภูมินทร์ ชลาชีวะ
ที่มา    http://www.suanprung.go.th/web/

0 ความคิดเห็น:

ค้นหาใน Web นี้

บทความที่ได้รับความนิยม

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

ผู้ติดตาม

ขับเคลื่อนโดย Blogger.