วันอังคารที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

การอยู่ร่วมกับผู้ติดสุรา



การอยู่ร่วมกับผู้ติดสุรา

    การติดสุรา เป็นอาการที่ต้องได้รับการรักษา โดยธรรมชาติของการติดสุราจะมีพฤติกรรมการติดและเลิกได้และกลับไปดื่มซ้ำอีก เป็นแบบนี้กลับไปกลับมา สมาชิกในครอบครัวจึงจำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจในการช่วยเหลือและอยู่ร่วมกับผู้ติดสุรา ซึ่งจะช่วยให้เขาหายขาดจากอาการติดสุราได้ โดยลองปฏิบัติตามวิธีต่างๆ ดังต่อไปนี้




    1. เรียนรู้เกี่ยวกับอาการติดสุรา โดยเข้ารับการปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญและยอมรับว่าผู้ติดสุราเป็นผู้ป่วยที่ต้องการความช่วยเหลือ การเสพติดเป็นกลไกตามธรรมชาติที่มีอยู่ในสมองของมนุษย์ทุกคน เพื่อให้เกิดการแสวงหาสิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต เช่น อาหาร น้ำ สิ่งของ ต่างๆ เป็นต้น ซึ่งเมื่อบุคคลได้รับการตอบสนองแล้วจะทำให้เกิดความพอใจและมีความสุข แต่การดื่มสุราจะเป็นการกระตุ้นให้สมองหลั่งสารที่ให้ความรู้สึกเป็นสุขออกมามากเกินกว่าปกติ ผู้ดื่มจะมีความรู้สึกมีความสุขแบบสุดขีด และเกิดความประทับใจทำให้เกิดความต้องการที่จะแสวงหาสุรามาดื่มอีก ขณะเดียวกันเซลล์สมองจะเกิดความเคยชิน ผู้ดื่มจะรู้สึกมีความสุขน้อยลงทำให้ต้องดื่มมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้ได้ความสุขเท่าเดิม จึงเกิดการติดสุราในที่สุด โดยผู้ติดสุราจะมีการดื่มสุรามากกว่าที่ตั้งใจ มีความต้องการดื่มอยู่ตลอด หรือไม่สามารถควบคุมการดื่มได้ มีอาการขาดสุราเมื่อหยุดดื่มหรือดื่มลดลง เช่น มือสั่น นอนไม่หลับ ชัก เป็นต้น ผู้ติดสุราจึงเป็นผู้ป่วยที่ต้องได้รับการรักษา
    2. แนะนำให้ผู้ติดสุรารับการบำบัดรักษาหรือหาผู้ช่วยเหลือ เช่น สถานพยาบาลที่ให้การบำบัด, วัดหรือชุมชนที่มีโครงการบำบัดฯ ,กลุ่มบำบัดที่จัดตั้งโดยการสนับสนุนจากองค์กรต่างๆ อาทิ กลุ่มผู้ติดสุราเรื้อรังนิรนาม (AA THAILAND) ฯลฯ โดยให้เขาได้ตัดสินใจเอง ไม่ควรโกรธหรือโมโห หากเขาเริ่มแสดงความสนใจในการบำบัดแต่ยัง ไม่ไปสักที
    3. อย่าหวังผลจากการหายจากอาการติดสุราอย่างรวดเร็วและได้ผล 100% เพราะการติดสุรา เป็นโรคเรื้อรังและเหมือนกับโรคอื่นๆ ที่อาจกลับเป็นซ้ำได้ อาจมีบางวันที่เขากลับไปดื่มอีก จงเข้าใจว่า นั่นเป็นส่วนหนึ่งของโรคติดสุรา
    4. อย่าหมดความหวัง ทำเป็นเย็นชา หรือหยุดที่จะช่วยเหลือเขา ถ้าเขายังไม่สามารถเลิกดื่มได้ จงคิดไว้เสมอว่า ถ้าเขาเลิกดื่มได้ครอบครัวจะมีความสุขขึ้น ถ้าคุณและเขาร่วมมือกัน
    5. พูดแสดงความเห็นใจเขาอย่างนุ่มนวล และสร้างความเชื่อมั่นในตัวเขา ให้เขาได้ตัดสินใจ ทำสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเอง และแสดงให้เขาเห็นว่าคุณต้องการเขาเหมือนที่คุณเคยต้องการ
    6. สนับสนุนสร้างความรับผิดชอบและปรับความคิดของเขาในแง่ดีเสมอ สนับสนุนให้เขาทำสิ่งต่างๆ ตามศักยภาพของเขาด้วยตัวเองให้กำลังใจ คิดถึงผลดีในสิ่งที่เขาทำ โดยแบ่งความรับผิดชอบให้เขาทำทีละน้อย อย่าทำแทน
    7. สนับสนุนกิจกรรมที่เขาให้ความสนใจ และเข้าร่วมกิจกรรมกับเขาด้วย เพื่อการใช้ชีวิตที่ปราศจากสุรา เช่น เล่นกีฬา ตกปลา ปลูกต้นไม้ เป็นต้น
    8. อย่าบ่น ตำหนิ ด่าว่า อบรมสั่งสอน เพราะจะทำให้เขารู้สึกผิดและขัดเคืองใจ เขาจะยิ่งต่อต้านตนเองและครอบครัวและจะกระตุ้นให้เขาไปดื่มสุรามากยิ่งขึ้น
    9. อย่าใช้การข่มขู่ เช่น ถ้าคุณไม่เลิกดื่ม ฉันจะไปจากคุณเพราะหากคุณไม่ทำตามที่คุณพูดไว้จะทำให้เขารู้ว่าคุณพูดไม่จริง และกลับไปดื่มต่อ แต่หากคุณทำตามที่พูดไว้ก็จะยิ่งทำให้เหตุการณ์เลวร้ายลงไปอีก
    10. อย่าใช้ความรักเป็นเงื่อนไขให้เขาเลิกดื่ม เช่น ถ้าคุณรักฉันต้องเลิกดื่มสุราเงื่อนไขนี้ไม่ได้ผลเพราะผู้ติดสุรานั้นไม่สามารถควบคุมการดื่มของเขาได้
    11. อย่านำขวดสุราไปซ่อน เพราะจะเป็นแรงผลักดันให้เขาหาวิธีใหม่เพื่อให้ได้ดื่ม และเก็บซ่อนขวดสุราที่เขาซื้อมาเองให้มิดชิดขึ้น
    12. อย่าเทเหล้าทิ้งหรือกีดกั้นเขาจากสุรา การเทเหล้าทิ้ง หรือห้ามผู้อื่นเอาสุรามาให้ดื่ม จะทำให้เขารู้สึกต่อต้าน เจ็บใจ และกลับไปดื่มสุราซ้ำเร็วขึ้น
    13. อย่าตามแก้ปัญหาอันเกิดจากการดื่มสุราของเขา เช่น ตามไปใช้หนี้จากการดื่มสุราของเขา โทรลางานให้เพราะเมาค้าง เขาจะสร้างปัญหาต่อไป เพราะรู้ว่ามีคนช่วยแก้ปัญหาให้
    14. อย่ายอมรับคำสัญญาที่จะเลิกดื่มหรือดื่มลดลงของเขา เพราะเขาไม่สามารถดื่มลดลงได้และ ไม่ควรโต้เถียงเขาเวลาที่เขาเมา เพราะเขาจะไม่รู้เรื่อง
    15. คุยกับลูกเรื่องการติดสุราเพื่อให้ลูกได้เข้าใจพ่อหรือแม่ที่มีอาการติดสุรา ไม่ควรพูดให้ลูกเกิดความรู้สึกที่ไม่ดีหรือเกลียดชังพ่อหรือแม่ที่ติดสุรา และบอกให้เขาทราบถึงอาการติดสุรา และการอยู่ร่วมกันช่วยเหลือกันควรทำอย่างไร
    16. ปล่อยวางจากพฤติกรรมการติดสุราของเขา ไม่เคร่งเครียดจากพฤติกรรมการติดสุราของเขามากเกินไป แล้วกลับมาดูแลตนเองหรือคนอื่นๆ ในครอบครัวตามปกติ
    17. ปรึกษากับญาติของผู้ติดสุราอื่นๆ เพราะจะทำให้คุณรู้ว่าไม่ใช่คุณคนเดียวที่เป็นทุกข์ และอาจทำให้คุณได้เรียนรู้วิธีการใหม่ๆ ในการอยู่ร่วมกับผู้ติดสุรา ผู้ที่อยู่ร่วมกับผู้ติดสุราควรมีความอดทนและเข้าใจในพฤติกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้น มองในด้านที่ดีอยู่เสมอ ให้ความรักอย่างจริงใจ และร่วมมือกัน ทั้งนี้ ท่านผู้อ่านสามารถโทรศัพท์ปรึกษาปัญหาการติดสุรา ได้ที่ โทร.1413 ศูนย์ปรึกษาปัญหาสุราหรือสายด่วนเลิกเหล้า หรือโทร.1323 สายด่วนสุขภาพจิต ฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง
    ขอขอบคุณข้อมูลจาก คู่มือหากสามีคุณเป็นนักดื่ม แผนงานการบำบัดฟื้นฟูทางเลือกในผู้มีปัญหาการดื่มสุรา (ผลส.),๒๕๕๓

ผู้แต่ง : งานสุขศึกษาและประชาสัมพันธ์ โรงพยาบาลสวนปรุง

0 ความคิดเห็น:

ค้นหาใน Web นี้

บทความที่ได้รับความนิยม

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

ผู้ติดตาม

ขับเคลื่อนโดย Blogger.