วันเสาร์ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ขั้นตอนการรักษาอาการนอนกรน



ขั้นตอนการรักษาอาการนอนกรน


          1)  อาการนอนกรน  มี 2 ประเภท คือ
     1.1]  อาการนอนกรนธรรมดา (ไม่อันตรายเพราะไม่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วย) ไม่มีผลกระทบต่อตัวผู้ป่วยเอง แต่จะมีผลกระทบต่อคนรอบข้าง โดยเฉพาะกับคู่นอน ทำให้นอนหลับยาก
     1.2] อาการนอนกรนอันตราย (มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วย) นอกจากจะมีผลกระทบต่อคนรอบข้างแล้ว  ถ้าไม่รักษาอาจมีอาการง่วงมากผิดปกติในเวลากลางวัน ทำให้เรียนหรือทำงานได้ไม่เต็มที่  ถ้าต้องขับรถอาจเกิดอุบัติเหตุในท้องถนนได้   นอกจากนั้นจะมีอัตราเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคอื่นๆ ได้ เช่น โรคความดันโลหิตสูง    โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันจากการขาดเลือด     ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ     โรคความดันโลหิตในปอดสูง    โรคหลอดเลือดในสมอง


          2) การที่จะแยกว่าท่านเป็นนอนกรนประเภทใด สามารถทำได้โดย
           การตรวจการนอนหลับ (sleep test)
          จุดประสงค์ของการตรวจการนอนหลับ คือ
     2.1] เพื่อแยกว่าท่านเป็น กรนธรรมดา หรือกรนอันตราย
     2.2]  ถ้าท่านเป็นกรนอันตราย  การตรวจการนอนหลับจะบอกความรุนแรงของโรคได้ ว่ามีภาวะหยุดหายใจขณะหลับมากหรือน้อยเพียงใด และช่วยให้แพทย์วางแผนการรักษาท่านได้ดีขึ้น

          การตรวจการนอนหลับสามารถทำได้โดย
     1.  นัดตรวจการนอนหลับที่โรงพยาบาล ซึ่งท่านต้องมานอนที่โรงพยาบาล 1 คืน
     2. นัดตรวจการนอนหลับที่บ้าน ซึ่งจะมีความละเอียดของการตรวจน้อยกว่าการตรวจที่รพ. แต่สามารถใช้เป็นการตรวจคัดกรองได้ (screening test)
  
          3)  การส่องกล้องตรวจระบบทางเดินหายใจส่วนบน จะทำให้ทราบถึงตำแหน่ง และสาเหตุของการอุดกั้นทางเดินหายใจส่วนบนได้
            
          4)  การรักษามี 2 วิธี คือ วิธีไม่ผ่าตัด และวิธีผ่าตัด ซึ่งท่านสามารถเลือกได้ เพราะการรักษาอาการนอนกรน และ/หรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ไม่จำเป็นต้องผ่าตัด  แนะนำให้ใช้วิธีไม่ผ่าตัดก่อน  ถ้าไม่ดีขึ้น,ไม่ชอบ หรือไม่สะดวก ท่านสามารถเลือกวิธีผ่าตัดได้
       
     4.1] วิธีไม่ผ่าตัด
•  ลดน้ำหนัก ในรายที่ท่านมีน้ำหนักเกิน

ดัชนีมวลกาย (Body Mass Index : BMI) ของท่าน = น้ำหนัก (กิโลกรัม) / [ ส่วนสูง (เมตร)]2
BMI   < 18.5   –  น้ำหนักตัวน้อยกว่าปกติ
18.5 – 22.9   –  น้ำหนักตัวปกติ
23  –  24.9    –  น้ำหนักตัวมากกว่าปกติ
> 25              –  น้ำหนักตัวมากกว่าปกติมาก เป็นโรคอ้วน

       โดยทั่วไปถ้าลดน้ำหนักได้ร้อยละ 10  อาการนอนกรนจะดีขึ้นประมาณร้อยละ 30  และควรออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อเพิ่มความตึงตัวให้กับกล้ามเนื้อบริเวณคอหอย ซึ่งจะทำให้มีการหย่อนและอุดกั้นทางเดินหายใจน้อยลง
•  หลีกเลี่ยงยาชนิดที่ทำให้ง่วง เช่นยานอนหลับยากล่อมประสาทยาแก้แพ้ชนิดง่วง หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง เช่น เบียร์  ไวน์  วิสกี้  เหล้า โดยเฉพาะก่อนนอน  เนื่องจากจะทำให้กล้ามเนื้อทางเดินหายใจส่วนบนคลายตัวมากขึ้น ทำให้มีการอุดกั้นทางเดินหายใจมากขึ้น  นอกจากนั้นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มักมีแคลอรี่สูง จะทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มได้ง่ายขึ้น ซึ่งจะทำให้ทางเดินหายใจแคบลง
•  หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ หรือสัมผัสควันบุหรี่ เนื่องจากจะทำให้เนื้อเยื่อในระบบทางเดินหายใจบวม ทำให้มีการอุดกั้นทางเดินหายใจมากขึ้น
•  นอนศีรษะสูงเล็กน้อย ประมาณ 30 องศาจากแนวพื้นราบ จะช่วยลดบวมของเนื้อเยื่อในระบบทางเดินหายใจได้บ้าง  และควรนอนตะแคง เพราะการนอนหงายจะทำให้มีการอุดกั้นทางเดินหายใจมากขึ้น  อาจทำได้โดยเอาหมอนข้างมาหนุนที่หลัง หรือใส่ลูกเทนนิสไว้ด้านหลังของเสื้อนอน ทำให้นอนหงายลำบาก
•  ใช้ยาพ่นจมูก พ่นวันละครั้งก่อนนอน ซึ่งยาพ่นจมูกจะทำให้เยื่อบุจมูกยุบบวม ทำให้ทางเดินหายใจโล่งขึ้น และยังจะช่วยหล่อลื่น ทำให้การสะบัดตัวของเพดานอ่อนและลิ้นไก่น้อยลง ทำให้เสียงกรนเบาลงได้
•  การใช้เครื่องมือที่เป่าลมเข้าไปในทางเดินหายใจส่วนบน ทำให้ทางเดินหายใจกว้างขึ้นหรือไม่อุดกั้นขณะนอนหลับ (Continuous Positive Airway Pressure: CPAP) ซึ่งเป็นการรักษาอาการนอนกรนชนิดอันตรายที่ดีที่สุด ซึ่ง ควรลองใช้ในผู้ป่วยทุกราย ก่อนพิจารณาการผ่าตัดเสมอ
• ใช้ครอบฟัน (Oral Appliance) เพื่อเลื่อนขากรรไกรล่างมาทางด้านหน้า ทำให้ทางเดินหายใจกว้างขึ้นขณะนอนหลับ
     4.2] วิธีผ่าตัด  มีจุดประสงค์ทำให้ขนาดของทางเดินหายใจส่วนบนกว้างขึ้น ทำให้อาการนอนกรน และ/หรือ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับลดลง ซึ่งการผ่าตัดจะทำมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับตำแหน่งและสาเหตุของการอุดกั้นทางเดินหายใจ การผ่าตัดไม่ได้รักษาให้อาการนอนกรน และ/หรือภาวะหยุดหายใจหายขาด  หลังผ่าตัดอาการนอนกรนและ/หรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับอาจยังเหลืออยู่ หรือ มีโอกาสกลับมาใหม่ได้ ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย
สิ่งสำคัญ คือ
          4.2.1} ต้องควบคุมน้ำหนักตัวให้ดี อย่าให้เพิ่ม เนื่องจากการผ่าตัดเป็นการขยายทางเดินหายใจที่แคบให้กว้างขึ้น  ถ้าน้ำหนักเพิ่มหลังผ่าตัด  ไขมันจะไปสะสมอยู่รอบผนังช่องคอ ทำให้กลับมาแคบใหม่ได้ ซึ่งจะทำให้อาการนอนกรน และ/หรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับกลับมาเหมือนเดิมหรือแย่กว่าเดิมได้
          4.2.2} ต้องหมั่นออกกำลังกายเสมอ ให้กล้ามเนื้อบริเวณทางเดินหายใจส่วนบนตึงตัวและกระชับ เนื่องจากหลังผ่าตัด เมื่ออายุผู้ป่วยมากขึ้น เนื้อเยื่อและกล้ามเนื้อบริเวณทางเดินหายใจส่วนบนจะหย่อนยานตามอายุ  ทำให้ทางเดินหายใจส่วนบนกลับมาแคบใหม่  การออกกำลังกายจะช่วยให้การหย่อนยานดังกล่าวช้าลง
       ในผู้ป่วยบางราย อาจต้องมาผ่าตัดซ้ำเพื่อแก้ไขทางเดินหายใจที่แคบส่วนอื่นๆ หรือใช้เครื่อง CPAP ร่วมด้วยหลังผ่าตัด ขึ้นอยู่กับชนิดของการผ่าตัด และจุดอุดกั้นทางเดินหายใจและความรุนแรงของโรค


ที่มา      รศ.นพ. ปารยะ  อาศนะเสน
            ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา
            Faculty of Medicine Siriraj Hospital
            คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล




0 ความคิดเห็น:

ค้นหาใน Web นี้

บทความที่ได้รับความนิยม

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

ผู้ติดตาม

ขับเคลื่อนโดย Blogger.