วันพฤหัสบดีที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ตั้งครรภ์ไข่ปลาอุก (Molar pregnancy)


ตั้งครรภ์ไข่ปลาอุก (Molar pregnancy)
  
การตั้งครรภ์ไข่ปลาอุก เป็นภาวะตั้งครรภ์ผิดปกติ โดยมีการเปลี่ยนแปลงของไข่ที่ผสมแล้ว กลายเป็นถุงน้ำจำนวนมากมาย ผู้ป่วยมักมีอาการแพ้ท้องมากกว่าปกติ บางรายมีอาการของต่อมไธรอยด์เป็นพิษ หรืออาจจะมีอาการของการตั้งครรภ์เป็นพิษโดยมีอาการบวมมากกว่าปกติ มีความดันโลหิตสูงและอาจร่วมกับการตรวจพบไข่ขาวในปัสสาวะร่วมด้วย




การตั้งครรภ์ที่มักจะมีอาการเลือดออกทางช่องคลอดคล้ายอาการของการแท้งบุตร สามารถวินิจฉัยได้โดยการตรวจระดับฮอร์โมนจากรก (beta HCG) ซึ่งมักจะสูงกว่าระดับของการตั้งครรภ์ปกติ การตรวจด้วยคลื่นเสียงอัลตราซาวนด์ช่วยให้การวินิจฉัยมีความแม่นยำสูง
เมื่อวินิจฉัยได้แล้วแพทย์จะทำการขูดมดลูกเพื่อเอาเนื้อไข่ปลาอุกออกให้หมด ซึ่งถ้ามีภาวะต่อม  ไธรอยด์เป็นพิษหรือการตั้งครรภ์เป็นพิษ อาจจำเป็นต้องควบคุมให้ได้ก่อนการขูดมดลูก
หลังจากการขูดมดลูกแล้วการตรวจติดตามเป็นระยะ ๆ มีความสำคัญมาก เนื่องจากการตั้งครรภ์ไข่ปลาอุกมีโอกาสจะกลายเป็นมะเร็งของเนื้อรกได้ภายหลังประมาณ 10% การติดตามที่สำคัญประกอบด้วยการตรวจหาระดับฮอร์โมนจากรก (beta HCG) ซึ่งปกติจะลดลงเรื่อย ๆ จนถึงระดับปกติภายใน 3 – 4 เดือน ระหว่างนั้นมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องคุมกำเนิด เพราะถ้าเกิดการตั้งครรภ์ขึ้น ฮฮร์โมนจากรก (beta HCG) จะทำให้การตรวจติดตามประเมินผลไม่ได้ ระหว่างการตรวจติดตามอาจจะมีการตรวจภายใน หรือตรวจโดยวิธีทางอัลตราซาวนด์หรือทางรังสีตามความจำเป็น
ระหว่างการตรวจติดตาม ถ้าระดับของฮอร์โมนจากรก (beta HCG) ไม่ลดลง หรือเพิ่มขึ้นจำเป็นต้องตรวจเพื่อเสาะหาว่ามีการกระจายของเนื้องอกของรกไปที่อื่นหรือไม่ เช่น กระจายไปที่ปอด และจำเป็นจะต้องรับการรักษาโดยยาเคมีบำบัด แพทย์จะประเมินผู้ป่วยเป็นราย ๆ ไปว่า ผู้ป่วยสมควรจะได้รับยาเคมีบำบัดตำหรับใดที่จะเหมาะสมที่สุด เนื่องจากเนื้องอกของรกหรือมะเร็งของรกสามารถรักษาให้หายขาดได้จากยาเคมีบำบัดที่เหมาะสม การป้องกันการตั้งครรภ์ระหว่างการรักษาเป็นสิ่งสำคัญมาก เช่นเดียวกับการร่วมมือกับแพทย์ระหว่างการรักษาย่อมส่งผลให้การรักษาประสบผลสำเร็จได้ตามความมุ่งหมาย
มะเร็งของเนื้อรกจัดเป็นมะเร็งชนิดแรกทางนรีเวชที่เราสามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยยาเคมีบำบัด ผู้ป่วยสามารถมีการตั้งครรภ์ปกติ ภายหลังการรักษาหายจากโรคแล้วได้


ที่มา รศ.นพ.ชัยยศ  ธีรผกาวงศ์
ภาควิชาสูติศาสตร์นรีเวชวิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล


0 ความคิดเห็น:

ค้นหาใน Web นี้

บทความที่ได้รับความนิยม

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

ผู้ติดตาม

ขับเคลื่อนโดย Blogger.