วันพฤหัสบดีที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

สร้างเด็กฉลาดทางปัญญาและอารมณ์


สร้างเด็กฉลาดทางปัญญาและอารมณ์ด้วยการเลี้ยงดูที่ถูกต้องเหมาะสมของพ่อแม่ผ่านกระบวนการกิน กอด เล่น เล่า

          เด็กในช่วงอายุแรกเกิด ถึง 5 ปี มีการเจริญเติบโตของร่างกาย และสมองรวดเร็วกว่าวัยอื่นๆ กระบวนการ กิน กอด เล่น เล่า (2ก 2ล)จะเป็นแนวทางในการส่งเสริมพัฒนาการเด็กในทุกๆด้านตั้งแต่แรกเกิด มีดังนี้
อาหารกับการเสริมสร้างสุขภาพลูกรัก(กิน)
- พ่อ แม่ ผู้ปกครอง ควรให้เด็กบริโภคอาหารที่มีผลต่อการเสริมสร้าง IQ ได้แก่
- นมแม่ นมแม่เป็นอาหารหลักที่ควรให้เด็กตั้งแต่อายุแรกเกิด ถึง 6 เดือน เป็นอาหารบำรุงสมองที่ดีที่สุด และมีรายงานว่าเด็กที่กินนมแม่จะมี IQ สูงกว่าเด็กที่กินนมวัว และพ่อแม่ควรเริ่มอาหารตามวัยเมื่อลูกอายุ 6 เดือน ซึ่งระยะเปลี่ยนผ่านของอาหารมีความสำคัญมาก จากอาหารเหลวเป็นอาหารอ่อนนุ่ม หากอาหารไม่เหมาะสม ทารกจะปรับตัวได้ไม่ดี มีผลให้ได้รับโปรตีนและพลังงานไม่เพียงพอ และควรให้นมแม่เป็นอาหารเสริมอย่างต่อเนื่องจนลูกอายุ 2 ปี สำหรับอาหารที่ช่วยพัฒนาสมองทารกนอกจากนมแม่แล้ว ยังมี ข้าวกล้อง , ผักสด , ผลไม้สด , อาหารจำพวกถั่ว หรือ อาหารกลุ่มโปรตีน , อาหารทะเล ล้วนมีประโยชน์ทั้งสิ้น

(ขอขอบคุณนายแบบน้อยๆ..... น้องพู่กัน ด.ช กฤษติน)
   


 สิ่งสำคัญคือ อาหารของเด็กต้องรสชาติไม่จัด และ ไม่ควรให้เด็กบริโภคขนมขบเคี้ยวและน้ำอัดลม เพราะมีรายงานว่า เด็กที่บริโภคแต่อาหารจำพวกนี้ จะมีผลการเรียนที่ต่ำกว่าเด็กที่บริโภคอาหารที่มีคุณค่าสูง


ความผูกพัน (กอด)
   เด็กที่มีความผูกพันกับพ่อแม่/ผู้เลี้ยงดู จะแสดงพฤติกรรมต่างๆที่บ่งบอกถึงความปรารถนาที่จะอยู่ใกล้ชิดกับคนนั้น
   การที่พ่อแม่ สร้างสายสัมพันธ์และความผูกพันที่ดีกับลูกในช่วงต้นของชีวิต จะทำให้เด็กสามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับบุคคลอื่นๆอีกมากมายในชีวิต สายสัมพันธ์ที่มีคุณค่ามากที่สุด คือ สายใยผูกพันระหว่างมารดากับเด็ก เป็นความผูกพันครั้งแรก เป็นความผูกพันจากบุคคลที่เด็กรักมากที่สุดหากความผูกพันนี้ขาดหายไป ความผูกพันอื่นๆก็ไม่สามารถที่จะแทนที่ได้
   วิธีการตอบสนองความต้องการทางด้านร่างกายและจิตใจอย่างนุ่มนวลทะนุถนอมกับเด็ก ซึ่งพ่อแม่/ผู้เลี้ยงดู สามารถสร้างได้ด้วยวิธีการ ดังนี้ค่ะ
- การให้อาหาร
- การสัมผัส  โอบกอด
- การสื่อสาร  พูดคุย
- การมอง  การเล่น
    ที่สำคัญพ่อแม่/ผู้เลี้ยงดูต้องมีความรู้สึกไวต่อท่าทางที่เด็กแสดงออกถึงความต้องการต่างๆ เช่น ร้องไห้เพราะหิว ร้องไห้เพราะเจ็บปวดและตอบสนองความต้องการนั้นได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว รู้จักให้เวลากับลูกอย่างสม่ำเสมอ ร่วมทำกิจกรรมที่ลูกสนใจอย่างมีความสุขร่วมกันจะมีค่าต่อความรู้สึกของลูกเป็นอย่างมาก รวมถึงการคุยกับลูกซึ่งจะเป็นการช่วยกระตุ้นภาษาการสนทนาและทักษะทางสังคมให้กับลูก พร้อมใส่ใจและรับฟังในสิ่งที่ลูกสนใจ
ส่งเสริมพัฒนาการลูกรักด้วยการเล่น (เล่น)
    การเล่นมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อชีวิตเด็ก เพราะการเล่นเป็นสัญญลักษณ์ของการถ่ายทอดประสบการณ์เด็กซึ่งเป็นการตอบสนองความต้องการเด็กในปัจจุบัน และถ่ายโยงประสบการณ์นี้ไปยังอนาคตของเด็ก
    การเล่นนอกจากจะเป็นธรรมชาติของเด็กแล้วยังเป็นสิ่งที่นำไปสู่การเรียนรู้ รู้จักธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม รู้จักช่างสังเกต คิดเชื่อมโยงเหตุผล ส่งเสริมพัฒนาการด้านต่างๆของร่างกาย ทำให้เด็กเกิดความภาคภูมิใจในความสำเร็จจากการเล่น ได้เรียนรู้บทบาทของการเป็นผู้ใหญ่ ได้เรียนรู้ในส่วนของกระบวนการคิด-วางแผน-การตัดสินใจ-ความร่วมมือกับเพื่อนๆ อีกทั้งการเล่นนี้ยังเป็นส่วนช่วยให้เด็กพัฒนาไปสู่วิถีการดำเนินชีวิตเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ อีกด้วยค่ะ
    สำหรับหลักง่ายๆในการเลือกของเล่นให้ลูกน้อย คือ พ่อแม่ต้องเลือกของเล่นที่คงทน ได้รับการรับรองมาตรฐานความปลอดภัย ไม่มีมุมหรือเหลี่ยมคม ใช้สีที่ไม่เป็นอันตรายต่อเด็ก ทำความสะอาดได้ง่ายและมีน้ำหนักที่เหมาะสมกับเด็ก ที่สำคัญต้องเลือกของเล่นให้เหมาะกับวัยของลูกน้อยด้วย
    และในระหว่างที่ลูกเล่นพ่อแม่ควรสังเกตพฤติกรรมและพัฒนาการของลูกน้อยหากพบความผิดปกติ หรือมีข้อสงสัยควรนำเด็กปรึกษาแพทย์ต่อไปค่ะ


การใช้หนังสือเพื่อส่งเสริมพัฒนาการลูกรัก (ด้วยการเล่านิทาน)
    หนังสือ คือ เครื่องมือและวิธีการที่สำคัญในการพัฒนาเด็ก เปรียบเสมือนอาหารมื้อหนึ่งของวัน การที่พ่อแม่อ่านหนังสือให้ลูกฟังวันละนิดนั้น ภาษาที่ลูกได้ฟัง ได้ซึมซับรับรู้ เป็นสะพานที่พ่อแม่ได้สร้างเชื่อมลูก โยงใยเข้าสู่การผจญภัย ความตื่นเต้น ความสนุกสนาน สร้างจินตนาการอันเป็นรากฐานที่สำคัญของชีวิต พร้อมๆกับการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของพ่อแม่ลูกเข้าด้วยกัน ที่สำคัญเป็นการบ่มเพาะนิสัยรักการอ่านในเด็กได้อย่างแยบยล โดยพ่อแม่ต้องเลือกหนังสือให้เหมาะกับวัยของเด็ก พร้อมเลือกสถานที่ที่เหมาะสม อาทิ สนามหญ้า ใต้ต้นไม้ เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เด็กมีความสนใจ/มีความตั้งใจที่จะอ่านหนังสือ และควรใช้เวลาอย่างน้อยวันละ 5-15 นาที และในขณะที่อ่านหนังสือกับลูกควรพูดคุยและตั้งคำถามเพื่อต่อยอดความคิดของลูกให้ลูกรู้จักคิดวิเคราะห์ ให้ลูกได้แสดงความคิดเห็น ถ้าคำตอบข้อใดที่ลูกหาไม่ได้พ่อแม่ควรแสดงให้ลูกเห็นว่าการหาคำตอบของพ่อแม่นั้นสามารถหาได้จากการอ่านหนังสือนี้เอง

ที่มา    ฝ่ายสื่อสารองค์กร กลุ่มพัฒนายุทธศาสตร์ สถาบันราชานุกูล

0 ความคิดเห็น:

ค้นหาใน Web นี้

บทความที่ได้รับความนิยม

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

ผู้ติดตาม

ขับเคลื่อนโดย Blogger.